วันวิสาขบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกภาระหนึ่ง ที่พุทธศาสนิกชนจะได้น้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์...
วันวิสาขบูชา...ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทางราชการถือเป็นวันพระพุทธ เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน
ปี 2550 เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระชนมายุ ครบ 80 พรรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม ที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก จึงมีมติให้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 3 ติดต่อกัน เพื่อให้ชาวพุทธจากทั่วโลกได้ร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสสำคัญร่วมกับคนไทย อีกทั้งคณะพระสังฆราช ผู้แทนพระสังฆราช พระสงฆ์ และผู้นำศาสนาพุทธกว่า 60 ประเทศ จะเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกด้วย
การประชุมวิชาการชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ 4 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2550 ว่าด้วยเรื่อง คุณูปการของพระพุทธศาสนาที่มีต่อธรรมาภิบาลและการพัฒนา ณ หอประชุมพุทธมณฑล นครปฐม ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก (Buddhism Center of the World) และ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 31 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา กล่าวถึงคนไทยกับศาสนาให้ฟังว่า ถ้าพูดถึงความห่างเหินของคนรุ่นใหม่กับศาสนา มีอาการที่น่าเป็นห่วง เพราะศาสนาเป็นเรื่องของตัวอย่าง คำสอนที่เข้าถึงจิตใจประชาชน โดยผ่านสื่อต่างๆและการเรียนการสอน แต่ปรากฎว่า ทั้ง 2 สื่อมีปัญหา
ด้านสื่อ รับแต่วัฒนธรรมต่างชาติที่ไม่สอดคล้อดกับค่านิยมและความเชื่อทางศาสนา เป็นวัตถุนิยมมากไปหาความสุขทางร่างกายมากกว่าความสุขสงบทางจิตใจ รวมทั้ง เพิกเฉย ละทิ้งคุณงามความดีทางจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ผนวกกับข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน ทำให้การไหลบ่าวัฒนธรรมแบบบริโภควัตถุนิยมเข้ามาท่วมคุณค่าทางศาสนาในประเทศไทย
อีกเรื่องหนึ่งที่ตามกันไม่ทัน คือ การอบรมจิตใจเยาวชนในโรงเรียน แม้จะมีความพยายามให้มีการสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากครูที่สอนไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องของพุทธศาสนา เมื่อต้องมาจึงไม่สามารถสอนได้ ส่วนพระสงฆ์ที่เข้าไปเสริมสมทบ ไม่ได้ฝึกในเรื่องของการใช้สื่อและอุปกรณ์ ศาสนาจึงกลายเป็นนามธรรม
การจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก นั้น มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นการสร้างกระแสให้ทุกฝ่ายหันมาสนใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสื่อมวลชน เพราะเป็นกระบอกเสียงสำคัญ อย่าง ประเทศศรีลังกา จะมีการประกาศข่าว ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมะในช่วงวันวิสาขบูชา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะมีใบแทรกเกี่ยวกับพุทธประวัติ ธรรมะต่างๆ ส่วนโทรทัศน์จะถ่ายทอดกิจกรรมทางศาสนาตลอดสัปดาห์ เหมือนกับให้คนถูกกระตุกใจหันกลับมาเห็นคุณค่าทางศาสนา สหประชาชาติจึงยกให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก
คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนากว่า 80 เปอร์เซนต์ จึงไม่ควรนอนหลับทับสิทธิ์ จากการที่ได้จัดกิจกรรมมา 2 ปี ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ที่ทุกประเทศต่างตระหนักถึงความสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน คือ การเปิดมหาวิทยาลัยที่สอนพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
ในหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุมเป็นประเทศที่เคยประกาศไม่รับพุทธศาสนา เช่น ประเทศจีน เวียดนาม และกัมพูชา แต่ในวันนี้ ล้วนกำลังก่อสร้างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน รัฐบาลอนุญาตให้มีการจัดสร้างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นที่เมืองฝู่โถวซาน ใช้งบประมาณ 16,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่
แม้กระทั่ง เวียดนาม ที่เริ่มมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ประชาชนไม่อยากมีความสุขบนวัตถุแต่จิตใจมีปัญหา จึงหันเข้าหาพุทธศาสนา อย่างในครั้งนี้ ทางสถานฑูตวเวียดนามได้ส่งท่านเลขานุการเอกมาร่วมสังเกตุการณ์ และเข้าร่วมประชุมด้วย นั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับกิจกรรมในครั้งนี้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้มีการส่งสารมาให้ เพื่ออ่านในการประชุมที่สหประชาชาติ ในการสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
โลกเหมือนกับลูกตุ้มนาฬิกา เหวี่ยงไปทางด้านวัตถุนิยม เพื่อหาความสุขทางด้านวัตถุ สักพักหนึ่งจะรู้ว่าไม่ใช่ทางที่ปัจเจกชนจะมีความสุข แต่เป็นทางที่ทำให้สังคมล้มละลาย เจอปัญหาของความรุนแรงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรม ปัญหาทางเพศและปัญหาอื่นๆ ที่เยาวชนและวัยรุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ลูกตุ้มนาฬิกาที่เหวี่ยงไปจะเหวี่ยงกลับมาอีกด้านหนึ่ง คือ จิตใจ เห็นคุณค่าของศาสนา มีการสอนศาสนามากขึ้น คนหิวธรรมะกันมากขึ้น เห็นได้จาก เมื่อมีพระสงฆ์ไปเทศน์ที่ใดจะมีผู้คนตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าคนหันไปทางวัตถุแล้วผิดหวัง จึงหันกลับมาหาทางจิตใจ
สังคมไทยถ้าหันมาหาจิตใจกันอย่างถูกทาง ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ผสมความมั่งคั่งที่เป็นวัตถุนิยมกับคุณค่าทางจิตใจ คือ พอเพียง นั่นก็คือ ทางสายกลาง ที่คงความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจที่เป็นอย่างในตอนนี้เอาไว้ แต่ใส่คุณค่าทางจิตใจในเรื่องศาสนาเข้าไปจะพอดี กลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นสุขทั้งกายและใจ
การจัดกิจกรรมในปีนี้ นอกจากการประชุมสัมมนาและร่วมกิจกรรมต่างๆ แล้ว ผู้นำทางศาสนาของแต่ละประเทศหรือที่เรียกันว่า ไอ โอ ซี จะมีการลงนามในปฏิญญาและทำกฎบัตรร่วมกันเพื่อจัดตั้ง สมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก ขึ้น
ตอนนี้กำลังมีการดำเนินการชี้แจงรายละเอียดที่เน้นการประชุมแบบเวิร์ค โดยศูนย์กลางของสมาคมพุทธศาสนาโลกจะอยู่ที่ประเทศไทย แต่จะจัดตั้งที่ใดนั้นกำลังอยู่ในช่วงการปรึกษากันอยู่ การที่ประเทศไทยได้รับให้เป็นศูนย์กลางของสมาคมฯ มาจาก 2 ส่วน คือ บรรยากาศทางการเมือง ผู้นำที่เป็นชาวพุทธ ที่สามารถต้อนรับผู้นำศาสนาและชาวพุทธต่างประเทศได้อย่างอบอุ่น และประชาชน เพราะพระพุทธศาสนาในหลายๆ ประเทศเป็นเสียงข้างน้อย เมื่อมาเห็นในประเทศไทย ไปที่ใดจะเห็นวัดวาอาราม เห็นชาวบ้านมาร่วมชุมนุมในวันสำคัญทางศาสนา เหมือนกับกำลังมองเห็นสังคมในอุดมคติ ซึ่งในต่างประเทศไม่ค่อยมีให้เห็น ส่วนใหญ่พระจะอยู่ในฐานะเฝ้าศาลเจ้า แต่ของประเทศไทย พระมีบทบาทในการประสานงานและจัดการงานได้
นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในช่วงวันวิสาขบูชาว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยมีการนำหลักวีถีพุทธเข้าสู่วิถีไทยของรัฐบาล ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีโอกาสศึกษาเรียนรู้และปฎิบัติธรรม ตั้งสัจจะอธิษฐานในอันที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีมีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ มีความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตและดำเนินรอยตามพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม
สำหรับงานในบริเวณพุทธมณฑลจะเน้นให้ประชาชนได้สัมผัสบรรยากาศของการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ที่มีผู้นำศาสนาพุทธกว่า 60 ประเทศเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยังมีการปฎิบัติธรรม การจัดนิทรรศการจำลองเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับวันวิสาขบูชา ละครหุ่นมือ ส่วนท้องสนามหลวง จะมีนิทรรศการและกิจกรรมโครงการรักษ์วัดนิทรรศการเผยแพร่พระพุทธศาสนา 5 ทวีป กิจกรรมบนเวทีการตอบปัญหาธรรมะชิงรางวัลและการฉายภาพยนตร์ธรรมะทั้งนี้ได้จัดทำโปสเตอร์บันทึกความดีเพื่อพ่อหลวง จัดพิมพ์จำนวน 100,000แผ่นมอบแก่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศด้วย
ศาสนาสอนให้คนทำความดี ที่สำคัญ คือ รู้รักสามัคคี ปรองดองกัน ใช้คุณค่าทางศาสนา คือ ความเมตตา สังคมไทยเคยเป็นสังคมที่มีความสุขสงบทางจิตใจ เป็นดินแดนแห่งเมืองยิ้ม แต่ในสภาวะปัจจุบัน เจอหน้ากันใส่หน้ายักษ์ หน้าบึ้งให้แก่กันไป อยากให้นึกถึงคุณค่าเหล่านี้ การถ่อยทีถ่อยอาศัย ประนีประนอมกัน พบกันครึ่งทางอย่างให้สุดโต่ง กลายเป็นความรุนแรงในสังคมบ้านเมือง พระธรรมโกศาจารย์ กล่างทิ้งท้าย
ชื่อเสียง ยศ ฐาบันดาศักดิ์ อาจแลกมาได้ด้วยเงิน แต่คุณธรรมและความดี เป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำเอง...
ที่มาของข้อมูล : |