วันนี้ (๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐) เวลา ๑๔.๐๐ น. พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมวิชาการชาวพุทธนานาชาติครั้งที่ ๔ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๕๐ โดยมีชาวพุทธจำนวน ๑,๓๐๐ รูป/คน จาก ๖๑ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม ซึ่งได้แถลงข่าว ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
พระธรรมโกศาจารย์ ฯ กล่าวถึง ผลการประชุมกลุ่มย่อยทั้ง ๖ กลุ่มว่าหลักธรรมาภิบาลไม่ใช้หลักของปกครองเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำไปใช้เป็นหลักของการปกครองเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำไปใช้เป็นหลักการดำเนินชีวิตด้วย นอกจากนั้น น่าจะมีเว็บไซต์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเครือข่ายที่คนทั่วโลกสามารถลิงค์เข้ามาได้ นอกจากนี้ชาวพุทธทั่วโลกควรหันมาส่งเสริมและสร้างสรรค์พุทธศิลป์ ไม่ใช้แค่อนุรักษ์แต่ควรจะมีการปกป้องเมื่อมีผู้นำไปเผยในทางที่ไม่เหมาะสม
พระธรรมโกศาจารย์ฯ กล่าวย้ำว่า ชาวพุทธนานาชาติ มีความปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ทรงเป็นแบบอย่างในการนำพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ ตามหลักธรรมาภิบาล อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นแบบอย่างของชาวพุทธทั่วโลก และ อีกเรื่องหนึ่งคือ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์จัดตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (International Association of Buddhists Universities) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเป็นสมาชิกกว่า ๘๐ มหาวิทยาลัยทั่วโลก และที่ประชุมได้เลือกพระธรรมโกศาจารย์ฯ เป็นประธานของสมาคมฯ มีรองประธานจากจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม นอกจากนี้เวียดนามได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกในปีต่อไป (๒๕๕๑) และประการสุดท้าย ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบสนับสนุนการประชุมชาวพุทธโลกครั้งที่ ๒ (World Buddhist Forum) ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศจีนในปี ๒๕๕๑ นี้
การประชุมชาวพุทธนานาชาติฯ ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย และมหาเถรสมาคม เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เพื่อต้องการให้ชาวพุทธทั่วโลกมีความเข้าใจ และร่วมมือกันตามข้อตกลงระหว่างผู้นำและนักปราชญ์ชาวพุทธ โดยการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับปัญญาและเมตตา สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกอย่างแท้จริง
|