วันนี้ (๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๐) ในการประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ ครั้งที่ ๔ ในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เริ่มการประชุมด้วยการสวดเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตภาวนา โดยพระสงฆ์จากพม่า จากนั้น พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวต้อนรับผู้ร่วมประชุมว่า การร่วมประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงเอกภาพของชาวพุทธ ซึ่งนอกจากตัวแทนจาก ๖๐ ประเทศ จาก ๕ ทวีปทั่วโลก เข้าร่วมแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมวันวิสาขบูชา ที่สำนักงานสาขาทั่วโลกของยูเอ็นด้วย ซึ่งการประชุมชาวพุทธนานาชาติครั้งนี้ ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเนื่องในงานเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ธันวาคม ๒๕๕๐
พร้อมกันนี้ นายคิม ฮักสุ ได้กล่าวคำต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๑,๕๐๐ รูป/คน ว่า คำสอนพระพุทธศาสนาทันสมัย เข้ากันได้ดีกับการทำงานของยูเอ็น ในปีนี้ตรงกับการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ตรงกับ ๖๐ ปีแห่งการก่อตั้งยูเอ็นเป็นต้นไป ทั้งยังได้ระบุเหตุการณ์สำคัญที่นายโคฟี่ อันนัน สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการสหประชาชาติเดินทางมาประเทศไทยเพื่อถวาายรางวัลการพัฒนาด้านมนุษย์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกล่าวยืนยันว่าทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะเป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนพ้นจากความยากจน เป็นหลักทฤษฎีทำงานเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก นอกจากนี้ ได้อ่านสาส์นของท่านบัน คี มูน (Ban Ki-moon) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่า วิสาขบูชาเป็นการฉลองวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งสอนเรื่องเมตตา กรุณา ความเข้าใจต่อกัน และเรื่องสันติภาพ เป็นหลักธรรมให้คนหลายล้านคนทั่วโลกได้นำไปปฏิบัติก่อให้เกิดความสุขแก่ชาวโลก
หลังจากนั้น พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์โดยแสดงความยินดีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานสี่ปีติดต่อกัน ซึ่งในปีนี้เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า พระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่สามารถสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม และทุกคนควรปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา มีศีลห้าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แล้วจะเกิดธรรมา ภิบาลในครอบครัว ประเทศชาติ และทั่วโลก ขอให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่มีหลักการว่า รู้จักพอ มีเหตุมีผล และรู้จักตัวเอง
จากนั้น ผู้แทนสมาคมชาวพุทธของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย เกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น ได้กล่าวสุนทรพจน์และอ่านสารจากผู้นำประเทศต่าง ๆ โดยนายแผน วรรณเมธี ในฐานะประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งนี้ จะทำให้ได้ประโยชน์ในการใช้ธรรมะกับการแก้ปัญหาของโลกปัจจุบัน เพื่อให้เกิดสันติภาพของโลกอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หลักพรหมวิหาร 4 ที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา หากได้เริ่มต้นที่จิตใจของแต่ละคน และแผ่ไปยังมนุษยชาติทั่วโลก ก็จะเป็นประโยชน์แก่โลก และทำให้สังคมปราศจากความรุนแรง
สำหรับภาคบ่าย ได้มีการอภิปรายเรื่อง พระพุทธศาสนากับธรรมาภิบาลและการพัฒนา ซึ่งวิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร. เอียน แฮริส (อังกฤษ) ศ.ดร. โอลิเวอร์ อภัยนายกะ (ศรีลังกา) นางเคลาดิน์ ชิโนดะ (ฝรั่งเศส) นายพัลลภ ไทยอารี (ประเทศไทย) ดำเนินรายการโดย ดร. พระชิ มิ่ง ยี่ วิทยากรทุกท่านมีความเห็นที่ค่อนข้างสอดรับกันว่า สังคมในพระพุทธศาสนาไม่มีความแตกต่างทางชนชั้น โดยเฉพาะยิ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราไม่นับถือในคำสอนอย่างมืดบอดแต่ให้ปฏิบัติให้เข้าใจด้วยตนเอง ทรงประทานปัญญาและกรุณาต่อมวลมนุษย์ชาติ ในขณะเดียวกัน พระพุทธศาสนาสนับสนุนการกระทำโดยให้ยอมรับผู้อื่นเพื่อเข้าใจสัจธรรม และสนับสนุนให้ทุกคนพัฒนาตนเอง ซึ่งจะทำให้มนุษย์ชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในโลกของความแตกต่างและหลากหลาย
|