ผู้นำศาสนาและนักปราชญ์ทั่วโลกจำนวน ๑,๒๘๐ รูป/คน จาก ๖๑ ประเทศ เข้าร่วมประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ ๔ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญของโลก ประจำปี ๒๕๕๐ ต่างยกย่องประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานวิสาขบูชาของโลก ติดต่อกันยิ่งใหญ่สมเกียรติทุกประการ การจัดงานประชุมนานาชาตินี้นอกจากเป็นพุทธบูชา ฉลองวันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ในวันวิสาขปุรณมีวันพระจันทร์เพ็ญซึ่งบังเอิญตรงกัน นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแล้ว ยังถือว่าเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกับชาวไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและมหาเถรสมาคม ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ภายใต้การนำของพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ เจ้าคณะภาค ๒ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เป็นหน่วยงานหลักประสานงานกับนานาชาติต่างๆ
การประชุมนานาชาติเริ่มขึ้น ณ พุทธมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ในภาคเช้า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธานกล่าวสัมโมทนียกถาเปิดการประชุม และพระธรรมโกศาจารย์กล่าวต้อนรับผู้นำชาวพุทธสู่ประเทศไทยได้อย่างไพเราะจับใจ หลังจากนั้นเป็นสาส์นและการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำศาสนาและนักปราชญ์ต่างๆ ซึ่งต่างกล่าวยกย่องสรรเสริญประเทศไทย และพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และประธานดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติว่า จัดงานวิสาขบูชาของโลกได้ยอดเยี่ยมและประทับใจเหมือนทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปีนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมประชุม เพราะยังจะได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมถวายพระพรในหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ นี้
ภาคบ่าย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ เสด็จเป็นองค์ประธาน มีพระดำรัสเปิดการประชุม โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กราบทูลถวายรายงาน และกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเรื่องเมตตากรุณา และธรรมาภิบาล
การประชุมนานาชาติ จะย้ายเวทีไปยัง ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ ๒๗ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ซึ่งจะมีปาฐกถานำ หัวข้อเรื่อง คุณูปการพระพุทธศาสนาที่มีต่อธรรมาภิบาลและการพัฒนา และการประชุมกลุ่มย่อยต่างๆ เช่นเรื่องการอนุรักษ์พุทธศิลป์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีโอกาสชนิทรรศการจากหลายประเทศที่มาร่วมแสดง โดยเฉพาะภาพนิทรรศการตักสิลา จัดแสดงโดยสถาบันสีตะคู ประเทศพม่า พระพุทธศาสนาในต่างประเทศเช่นเกาหลี ศรีลังกา รัสเซีย เบลเยียม และภาพนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดแสดง หัวข้อเรื่องในหลวงของเรา และกิจกรรมมหาวิทยาลัยกับการประชุมนานาชาติ เป็นต้น
|