พรรษาที่
๔๕ เป็นพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุในขณะนั้นได้
๘๐ พรรษา ในพรรษานี้พระองค์ได้เสด็จประทับจำพรรษา ณ เวฬุวคาม
ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างพรรษานี้ พระองค์ทรงประชวรอย่างหนัก
มีความเจ็บปวดอย่างรุนแรงถึงกับจะปรินิพพาน แต่พระองค์ทรงระงับความเจ็บปวดทรมานด้วยการเข้าเจโตสมาธิอันไร้นิมิต
ในวันเพ็ญเดือนสามภายหลังพรรษานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับ
ณ ปาวาลเจดีย์ ตรัสบอกพระอานนท์ว่า พระองค์ได้ตัดสินพระทัยว่าจะปรินิพพานในเวลา
๓ เดือนนับแต่วันนั้น การตัดสินพระทัยเช่นนี้เรียกว่า ปลงพระชนมายุสังขาร
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
พระพุทธองค์เสด็จออกจากเมืองเวสาลีแสดงธรรมในที่ต่าง ๆ จนถึงวันขึ้น
๑๔ ค่ำเดือน ๖ เหลืออีกเพียง ๑ วันจะครบ ๓ เดือน พระองค์เสด็จถึงเมืองปาวา
ประทับอยู่ในสวนมะม่วงของนายจุนทะ ทรงแสดงธรรมโปรดนายจุนทะให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล
และนายจุนทะได้อาราธนาพระพุทธองค์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น
พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา
วันรุ่งขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือน
๖ เสด็จไปฉันภัตตาหารที่บ้านนายจุนทะ ซึ่งเป็นการรับบิณฑบาตครั้งสุดท้าย
พระองค์ฉันสูกรมัททวะ๑ ที่นายจุนทะทำถวาย ทรงห้ามมิให้ภิกษุอื่นฉันสูกรมัททวะนั้น
หลังจากอนุโมทนาแล้ว เสด็จออกจากบ้านนายจุนทะ ในระหว่างทางทรงประชวรหนักขึ้นถึงลงพระโลหิต
แต่ทรงบรรเทาทุกขเวทนานั้นด้วยกำลังอธิวาสนขันติและฌานสมาบัติ
เสด็จเดินทางต่อไป ทรงพักเหนื่อยเป็นระยะ ๆ จนลุถึงเมืองกุสินารา
เสด็จเข้าไปยังดงไม้สาละ รับสั่งให้ปูลาดเสนาสนะ ระหว่างไม้สาละคู่หนึ่งแล้วเสด็จบรรทมสีหไสยาโดยมิได้คิดจะลุกขึ้นอีก
เวลานั้นต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกบานเต็มต้นโปรยดอกหล่นต้องพระพุทธสรีระ
ประดุจเป็นการบูชาพระพุทธองค์
ขณะประทับในอิริยาบถนั้น
ทรงแสดงธรรมตลอดเวลาทรงแนะนำพระอานนท์ให้ปฏิบัติต่อพุทธสรีระ
เช่นเดียวกับการปฏิบัติพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิ ในคืนนั้นสุภัททปริพาชกได้ขอเข้าเฝ้าทูลถามปัญหาต่าง
ๆ พระองค์ทรงตอบปัญหาให้เป็นที่พอใจ สุภัททปริพาชกเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท
พระองค์ทรงอนุญาตการอุปสมบทให้เป็นพิเศษ สุภัททะจึงได้บวชเป็นพระภิกษุ
นับเป็นสาวกองค์สุดท้าย อันนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจจนนาทีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
จากนั้น
พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาเป็นปัจฉิมโอวาทว่า "ภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พวกเธอจงยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"๒
สิ้นพระสุรเสียงนี้ก็มีแต่ความเงียบสงบ พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในยามสุดท้ายแห่งคืนพระจันทร์เต็มดวงของเดือนวิสาขะ๓
พระพุทธเจ้าประสูติกลางดินภายใต้ต้นสาละในวันเพ็ญเดือนหก
ตรัสรู้กลางดินภายใต้ต้นมหาโพธิ์ในวันเพ็ญเดือนหก และปรินิพพานกลางดินภายใต้ต้นสาละในวันเพ็ญเดือนหก
---------------------------
๑ ปฐมสมโพธิกถา หน้า ๔๐๕ กล่าวถึงสูกรมัททวะว่าเป็นขนมที่ปรุงด้วยโอทนกุมมาสและเบญจโครส
ส่วนนักปราชญ์ตะวันตกมีทัศนะว่า สูกรมัทวะเป็นเห็ดชนิดหนึ่ง
(ดู พุทธทาสภิกขุ, พุทธประวัติสำหรับนักศึกษา, แพร่พิทยา,๒๕๑๔,
หน้า ๒๘๔-๒๘๘).
๒ ที.ม. ๑๐/๑๘๐/๑๔๓.
๓ ตรงกับวันอังคาร เพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ปีมะเส็ง ต้น
พ.ศ.
|