๑.
ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ
ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น ผู้ที่ทำอุปการคุณก่อนเรียกว่า
ปุพพการี ขอยกมากล่าวในที่นี้ คือ บิดา มารดา และครูอาจารย์
บิดามารดา
มีอุปการคุณแก่บุตร ธิดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่
ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ให้ละเว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี
เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้ จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก
บุตร
ธิดา เมื่อรู้อุปการคุณที่บิดามารดาทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี
สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่านและช่วยทำงานของท่าน
และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
ครูอาจารย์
มีอุปการคุณแก่ศิษย์ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบังยกย่องให้ปรากฏแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองศิษย์ทั้งหลาย
ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน
ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู
ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายคนดี
ส่งผลให้ครอบครัวและสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน
และบุตรธิดาก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน สำหรับครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ
คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่ และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง
ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน นอกจากจะใช้ในกรณีของบิดามารดากับบุตรธิดา
และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง
พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร นายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อนกับเพื่อนและบุคคลทั่วไปรวมทั้งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
ในทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพพการรีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา
และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่ผู้ควรแนะนำสั่งสอน จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา
และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชาเป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก
ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พระพุทธศาสนา
และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป
๒. อริยสัจ ๔
อริยสัจ
คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน
มี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์
คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า
มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์
เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด
การแก่และตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่าง
ๆ
สมุทัย
คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า
ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิด เหตุนั้น
คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
นิโรธ
คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า
ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต ทั้งหมดนั้นแก้ไขได้โดยการดับตัณหา
คือ ความอยากให้หมดสิ้น
มรรค
คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่าทุกข์
คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์
๘
๓. ความไม่ประมาท
ความไม่ประมาท
คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด
สติ
คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูด และทำ ในภาคปฏิบัติ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน
นั่ง นอน
การฝึกให้เกิดสติ
ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะ
ยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูดขณะคิด และขณะทำงานต่าง
ๆ
วัตถุประสงค์
๑.
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันวิสาขบูชา
รวมทั้งหลักธรรมเกี่ยวข้องและแนวปฏิบัติที่ควรปฏิบัติ
๒.
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนมีทักษะในการคิด และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง
ในวันวิสาขบูชา และสามารถเลือกสรรหลักธรรม คือ ความกตัญญู
อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาทไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อพัฒนาตนและสังคม
๓.
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม คือ ความกตัญญู
อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท
๔.
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้งและตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา
๕.
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี และปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง
|