หน้าแรก วันวิสาขบูชา เกี่ยวกับวันวิสาขบูชา กิจกรรมวันวิสาขบูชา เอกสารสำคัญ อันเนื่องจากวันวิสาขบูชา คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาฯ เว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา
 

ผู้เรียบเรียง : นายธงชัย สุมนจักร

สัญลักษณ์ คือเครื่องหมายเป็นที่กำหนดรู้กันว่า หมายถึงเรื่องราวประวัติความเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร และใช้หมายถึงสิ่งไร เช่น สัญลักษณ์สถาบันของชาติไทยเราคือธงไตรรงค์ หรือธงชาติไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความหมายตามพระราชนิพนธ์บรรยาย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่า

         ขอพร่ำรำพันบรรยาย
ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
         ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์
หมายพระไตรรัตน์ และธรรมะคุ้มจิตไทย
         แดงคือโลหิตเราไซร้
ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษาชาติศาสนา
         น้ำเงินคือสีโสภา
อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
         จัดริ้วเป็นทิวไตรรงค์
จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทยฯ

          นอกจากนี้แล้ว ในประเทศถิ่นฐานหรือสถาบันที่มีความเจริญรุ่งเรืองต่างๆ มักจะมีตราสัญลักษณ์ปรากฏให้เห็นกันอยู่ทั่วไป ยิ่งพระพุทธศาสนาของเราซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองผ่านมาแล้วนับด้วยพันปี จนสืบเนื่องมาถึงประเทศไทยของเรา และเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว นักปราชญ์ราชบัณฑิต ได้บัญญัติตราสัญลักษณ์ขึ้นมากมาย สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาวไทยเราเห็นอยู่เสมอๆ และทั่วๆ ไป ก็คือ "ธงเสมาธรรมจักร" ซึ่งจัดทำขึ้นในคราวงานสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ในสมัยรัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป พิบูลสงคราม พ.ศ.๒๕๐๐ ที่จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน)

         ย้อนหลังไปดูถิ่นกำเนิดของธรรมจักรในสมัยอดีต เราจะพบวงล้อธรรมจักรใหญ่กับกวางหมอบคู่กันอีกสัญลักษณ์หนึ่ง ก็เป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ที่ขุดได้จากอาณาจักรทวาราวดี จังหวัดนครปฐม โดยกรมศิลปากร และตั้งแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมและศึกษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

         สัญลักษณ์นี้เป็นสัญลักษณ์อันประเดิมเริ่มแรกประวัติศาสตร์ ของพระพุทธศาสนาทีเดียว คือเป็นสัญลักษณ์การประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้า โดยทรงเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ๕ ท่าน คือ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมกานามะ และพระอัสสชิ

         ด้วยพระธรรมเทศนา ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตนะ" ซึ่งเป็นกำเนิดของวงล้อธรรมะอันจะหมุนเคลื่อนตัวไปรอบแล้วรอบเล่า เพื่อจะให้เข้าถึงประชาหมู่สัตว์ทั่วๆ ไป ดุจวงล้อของราชรถที่พระราชาประทับขับเคลื่อนไปฉะนั้น ส่วนกวางหมอบเป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ เป็นที่แสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธะ นั่นคือราวป่าเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาสรรพสัตว์ เขตปลดปล่อยโดยสวัสดิภาพ มีชื่อเรียกว่า "ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน"

         นักปราชญ์ทางศาสนา จึงกำหนดเอาวงล้อเป็นดุจธรรมคลาเคลื่อน และรูปสัตว์กวางเป็นสัญลักษณ์ ทางพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง เรียกว่า "ธรรมจักร" เป็นสัญลักษณ์อันประเดิมเริ่มแรกของพระพุทธศาสนา

         หลังจากนั้น ถัดมาอีกประมาณ ๒๓๐ กว่าปี ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ยิ่งใหญ่ของชมพูทวีปในประเทศอินเดีย ทรงนับถือและเลื่อมใสในประพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งจนถึงกับทรงยอมรับเป็นศาสนูปถัมภก ในคราวที่พระองค์ทรงโปรดให้พระภิกษุสงฆ์ชำระและทำสังคยนาพระพุทธศาสนา นับเป็นการทำสังคยนาครั้งที่ ๓ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการสังคายนาแล้ว พระองค์ทรงโปรดให้พระสงฆ์หัวหน้าทำสังคยนาคัดเลือส่งพระสงฆ์ ผู้มีความสามารถไปประกาศพระพุทธศาสนายังประเทศต่างๆ หลายสาย ประเทศไทยของเราก็มีส่วนได้รับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนี้ด้วย โดยพระโสณะเถระและพระอุตตรเถระได้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิประเทศ (อาณาจักรทวาราวดี) และพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะคือพระองค์ได้สร้างอนุสาวรีย์สถานในสังเวชนียสถานทั้ง ๔ คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ณ สถานที่นั้นๆ พระองค์ได้ทรงสร้างสถูปเจดีย์ไว้อย่างมั่นคงและแข็งแรง ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในชมพูทวีป ประเทศอินเดียถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญ คือสถานที่นั้นๆ พระองค์ได้ทรงสร้างเสาหินใหญ่ไว้ทุกแห่ง บนยอดของเสาหินนั้น มีรูปสิงห์ยืนผงาดอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ยืนหันหลังให้กันและกัน

         ที่หน้าอกของสิงห์แต่ละตัวสลักรูปเสมาธรรมจักรไว้ทุกตัว โดยมีกงล้อถึง ๒๔ กงด้วย และเป็นสัญลักษณ์ให้รู้กันว่า ณ สถานที่นี้มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและพระพุทธศาสนาเคยมีความมั่นคง ณ สถานที่นี้ ดังนั้น จึงทำให้เกิดสัญลักษณ์ที่เรียกว่า "เสาเสมาธรรมจักร" ขึ้น ซึ่งมีความหมายทั้งเสาเสมา เสาที่เป็นเขตแดนความมั่นคงและวงล้อธรรมจักร อันหมายถึงการประกาศเผยแผ่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้เข้าถึงประชาชน รวมเป็น "เสาเสมาธรรมจักร" โดยกรมการศาสนาได้จำลองรูปแบบส่วนหนึ่งมาเป็นสัญลักษณ์ และมอบให้แก่ผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชาทุกปี

          สำหรับตราธรรมจักรนั้น บางท่านอยากจะทราบต่อไปอีกก็ได้ว่า บางตรามี ๔ มี ๘ มี ๑๖ มี ๓๗ หรือาจมีมากกว่านั้นก็มีนั้น ขอเรียนว่านั่นเป็นเครื่องหมายที่นักปราชญ์ ทางศษสนาท่านคิดค้นหลักธรรม ในทางพระพุทธศาสนาย่อมาใส่ไว้เป็นกงหนึ่งๆ ในตราธรรมจักรนั้น เช่น ๔ กง อาจหมายถึงหลักของอริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ ๘ กง อาจหมายถึงมรรคมีองค์ประกอบ ๘ ประการก็ได้ อาจหมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ ก็ได้ ๑๖ กงอาจหมายถึงญาณ ๑๖ ในวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ได้ ๒๔ กง อาจหมายถึงปัจจยาการ ๑๒ (อิทิปัจจยตา) ทั้งฝ่ายอนุโลมและฝ่ายปฏิโลมรวมเป็น ๒๔ ก็ได้ ๓๗ กง อาจหมายภึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็ได้ หรือาจหมายถึงอย่างอื่นอีก สุดแต่จะกำหนดความหมายเอาหลักธรรมที่ตนเองเลื่อมใสหรือปฏิบัติมาย่อเข้านั่นเอง



มหาดไทย ดอท คอม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย True Together